Saturday, July 25, 2020

ซาวโดว์สตาร์เตอร์แบบแป้งโฮลวีท: Wholewheat sourdough starter



ตอนแรกปุ๊กว่าจะโพสต์สูตร Focaccia แบบใช้ ซาวโดว์ให้ได้ลองทำกันนะคะ


แต่พอมาคิดอีกที ยังไม่เคยลงสูตรซาวโดว์สตาร์เตอร์ในบล็อกเลย 555 จริงๆ หลายๆ คนอาจจะมีสตาร์เตอร์อยู่แล้ว แต่ถ้าใครยังไม่เคยเลี้ยง จะลองสูตรนี้ ก็แนะนำมากๆค่ะ โดยสูตรที่ปุ๊กใช้ เป็นสูตรจาก  SOURDOUGH BREAD MASTERCLASS WITH PATRICK RYAN นะคะ 
ปุ๊กเองลองเลี้ยงมาหลายแบบแล้ว ^^ พบว่าสูตรนี้ ง่ายในการเลี้ยง แล้วก็สตาร์เตอร์ที่ได้มีความแข็งแรงมาก ถึงขนาดปุ๊กลืมทิ้งไว้ ไม่ feed (เลี้ยง สตาร์เตอร์โดยการเพิ่มแป้ง และน้ำ) เกือบ 20 วัน ในตู้เย็น ซาวโดว์สตาร์เตอร์ของปุ๊กยังคง อยู่ในสภาพดี อยู่เลย

สำหรับใครที่มีซาวโดว์สตาร์เตอร์อยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องทำนะคะ  

การเลี้ยงเริ่มต้นไม่ยากค่ะ สิ่งที่ควรระวังคือความสะอาดค่ะ เพราะแรกๆ เชื้อจะยังไม่แข็งแรงพอ ดังนั้น ขวด หรือชามที่นำมาใช้ ต้องสะอาดนะคะ (ปุ๊กลวกขวด, ฝา และช้อนก่อนค่ะ) เพื่อป้องกันรา หรือเชื้อโรคค่ะ แต่หลังจากที่สตาร์เตอร์ใช้งานได้แล้ว เราก็ไม่ต้องระวังมากเท่าเดิมค่ะ เพียงแค่ ไม่ลืมเลี้ยงเค้าก็พอ 

สูตรด้านล่างจะแบ่งออกตามวัน โดยจากเริ่มต้นจนถึงเสร็จสมบูรณ์ จะใช้เวลา 7 วัน ฟังแล้ว เหมือนจะนาน แต่เวลาในการลงมือทำจริง แค่วันล่ะไม่ถึง 10 นาที นะคะ เพราะหลักๆ คือ ผสม แล้วก็พักไว้ที่อุณหภูมิห้อง  (22-30℃)  ข้ามคืน เท่านั้นเองค่ะ



Wholewheat sourdough starter




สูตรนี้รวมทั้งหมดจะใช้แป้งโฮลวีท 650 กรัมค่ะ 

วันที่ 1

50 กรัม ............. แป้งโฮลวีท
50 กรัม ............ น้ำ

ใส่แป้งและน้ำลงในโหล หรือชามสะอาด คนให้เข้ากัน 
ปิดฝา (หรือคลุมด้วยพลาสติกแร็ป) พักไว้ที่อุณหภูมิห้อง  (22-30℃)  ข้ามคืน 




วันที่  2

50 กรัม ............. แป้งโฮลวีท
50 กรัม ............ น้ำ

ใส่แป้ง 50 กรัมและน้ำ 50 กรัม ลงในซาวโดว์สตาร์เตอร์ คนให้เข้ากัน 
ปิดฝา (หรือคลุมด้วยพลาสติกแร็ป) พักไว้ที่อุณหภูมิห้อง  (22-30℃)  ข้ามคืน 



วันที่  3

100 กรัม ............. แป้งโฮลวีท
100 กรัม ............ น้ำ

ตักซาวโดว์สตาร์เตอร์ทิ้งไป 100 กรัม

ใส่แป้ง 100 กรัมและน้ำ 100 กรัม ลงในซาวโดว์สตาร์เตอร์ที่เหลือ คนให้เข้ากัน 
ปิดฝา (หรือคลุมด้วยพลาสติกแร็ป) พักไว้ที่อุณหภูมิห้อง  (22-30℃)  ข้ามคืน 


วันที่  4

100 กรัม ............. แป้งโฮลวีท
100 กรัม ............ น้ำ

สตาร์เตอร์ จะเริ่มมีกลิ่นเปรี้ยว และมีฟองเล็กน้อยด้านบน 

ตักซาวโดว์สตาร์เตอร์ทิ้งไป 150 กรัม

ใส่แป้ง 100 กรัมและน้ำ 100 กรัม ลงในซาวโดว์สตาร์เตอร์ที่เหลือ คนให้เข้ากัน 
ปิดฝา (หรือคลุมด้วยพลาสติกแร็ป) พักไว้ที่อุณหภูมิห้อง  (22-30℃)  ข้ามคืน 




วันที่  5

150 กรัม ............. แป้งโฮลวีท
150 กรัม ............ น้ำ

สตาร์เตอร์ จะมีฟองเยอะขึ้น

ตักซาวโดว์สตาร์เตอร์ทิ้งไป 200 กรัม

ใส่แป้ง 150 กรัมและน้ำ 150 กรัม ลงในซาวโดว์สตาร์เตอร์ที่เหลือ คนให้เข้ากัน 
ปิดฝา (หรือคลุมด้วยพลาสติกแร็ป) พักไว้ที่อุณหภูมิห้อง  (22-30℃)  ข้ามคืน 



วันที่  6

200 กรัม ............. แป้งโฮลวีท
200 กรัม ............ น้ำ

สตาร์เตอร์ จะมีฟองเยอะมาก และกลิ่นเปรี้ยวชัด 

ตักซาวโดว์สตาร์เตอร์ทิ้งไป 250 กรัม

ใส่แป้ง 200 กรัมและน้ำ 200 กรัม ลงในซาวโดว์สตาร์เตอร์ที่เหลือ คนให้เข้ากัน 
ปิดฝา (หรือคลุมด้วยพลาสติกแร็ป) พักไว้ที่อุณหภูมิห้อง  (22-30℃)  ข้ามคืน 

             

วันที่ 7

สตาร์เตอร์จะมีฟองเยอะมาก และพร้อมที่จะใช้งานได้แล้วค่ะ

เราต้องคอยให้เลี้ยง (fed/refreshed) เพื่อให้สตาร์เตอร์ของเรา พร้อมที่จะใช้งานได้เสมอนะคะ 



การเลี้ยงสตาร์เตอร์

ไม่ว่าจะมีสตาร์เตอร์อยู่น้ำหนักเท่าไหร่ ให้ใส่แป้ง และน้ำในน้ำหนักเท่ากับสตาร์เตอร์ลงไป
เช่นหากมีสตาร์เตอร์อยู่ 100 กรัม ก็ใส่ แป้ง 100 กรัม และน้ำ 100 กรัม แล้วผสมให้เข้ากัน
และหากมีสตาร์เตอร์มากไป ก็ให้ทิ้งส่วนที่ไม่ต้องการไป แล้วเก็บที่เหลือไว้

สตาร์เตอร์ถ้าเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง จะต้องเลี้ยงทุกวัน ซึ่งปุ๊กคิดว่าน่าจะเปลื้องและไม่จำเป็น (โดยเฉพาะหากเราไม่ได้ใช้สตาร์เตอร์ทุกวันนะคะ)

ทางที่ดี เราควรเก็บสตาร์เตอร์ของเราไว้ในตู้เย็นค่ะ โดยสตาร์เตอร์ที่เก็บในตู้เย็น ควรจะเลี้ยงทุก 10 วันค่ะ 

เมื่อต้องการนำสตาร์เตอร์ที่เก็บในตู้เย็นมาใช้ 
ให้นำสตาร์เตอร์ ออกมา พักไว้ที่อุณหภูมิห้อง  (22-30℃)  ก่อนใช้งาน 1 วัน
คืนก่อนที่จะใช้งาน ให้เลี้ยงสตาร์เตอร์ แล้ว พักไว้ที่อุณหภูมิห้อง  (22-30℃)  ข้ามคืน 
วันรุ่งขึ้น สตาร์เตอร์จะมีฟอง และพร้อมที่จะใช้งานได้แล้วค่ะ

No comments:

Post a Comment

Printfriendly